เข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย

เข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยด้วย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ระหว่างพิจารณาบุตรของนายสมพรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดเฉพาะตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำขอเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมโดยเห็นว่าผู้ตายมีส่วนประมาทจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามฟ้องของโจทก์ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4992/2553

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา โจทก์

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อโดยเห็นอยู่แล้วว่าในช่องเดินรถด้านหน้าช่องเดินรถเดียวกับจำเลย มีรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมี ส. เป็นผู้ขับ กำลังขับสวนทางมา จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรโดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ขับจนล้มลง รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและ ส. ถึงแก่ความตายทันที ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามฟ้องของโจทก์ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ข. โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)

แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถทั้งสองคันชนกันมิได้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายก็ตาม แต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ว่า เหตุเกิดเนื่องมาจากผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาวขนิษฐา บุตรของนายสมพรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (ที่ถูก ต้องระบุด้วยว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำขอเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม และให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำขอเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหกล้อโดยเห็นอยู่แล้วว่าในช่องเดินรถด้านหน้าช่องเดินรถเดียวกับจำเลยมีรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมีนายสมพร เป็นผู้ขับ กำลังขับสวนทางมา จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรโดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายสมพรขับจนล้มลง รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและนายสมพรถึงแก่ความตายทันที ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า ผู้ตายมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามฟ้องของโจทก์ถือว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และมีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน มิได้เกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายก็ตาม แต่โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ว่าเหตุเกิดเนื่องมาจากผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

( พินิจ สุเสารัจ - สมศักดิ์ ตันติภิรมย์ - วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี )
ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นายคมวัชร เอี้ยงอ่อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายวีรภัทร ไพบูลย์วัฒนกิจ

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
ตัวเล่นไฟล์เสียง
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456
ตัวเล่นไฟล์เสียง

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ