เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ในขณะที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายในคดีที่เจ้าหนี้อื่นฟ้องอยู่ และในคดีนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในสองเดือนนับแต่วันประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ปัญหาว่า เจ้าหนี้รายใหม่ไม่ทราบว่าลูกหนี้ของตนถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และอาจทราบประกาศโฆษณาคำสั่งจะทำอย่างไรจึงจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ในเรื่องนี้ขอให้พิจารณาบทบัญญัติต่อไปนี้ "มาตรา 93 ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด" แล้วคำว่า "นับจากวันคดีถึงที่สุด" นั้นมีความหมายว่าอย่างไร?? อธิบายได้ว่า เมื่อลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งพิทักทรัพย์เด็ดขาดแล้วถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดีแพ่ง เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเข้ามาว่าความแทนลูกหนี้ในคดีแพ่งนั้นและถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้รายใหม่ในคดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีดังกล่าวจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของลูกหนี้ได้เมื่อคดีแพ่งถึงที่สุด แม้จะล่วงเลยเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2553
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25, 91, 93
เจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกต่อศาลแพ่ง ระหว่างพิจารณาคดีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า เพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว ขอให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความแทน ครั้นถึงวันนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ในคดีล้มละลายครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 แม้ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคดีอยู่ระหว่างพิจารณาก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และ 91 การพิจารณาคดีแพ่งต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์ ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เจ้าหนี้แถลงคัดค้านว่าเพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 มาศาลในคดีแพ่ง แต่ไม่ได้แถลงให้เจ้าหนี้และศาลทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้มิได้ดำเนินการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว หากศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันมีผลเท่ากับศาลแพ่งพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้วมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 ต่อไป และไม่อนุญาตตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ติดใจเข้าว่าคดีแพ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวนั้น เป็นเพียงการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ติดใจที่จะนำพยานมาสืบหรือถามค้านพยานอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีแพ่ง เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่คดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93
________________________________
คดีสืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้าฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 และโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2547 เนื่องจากวันที่ 17 ตุลาคม 2547 ตรงกับวันหยุดราชการ ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2549 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 53,296,373.68 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 และมาตรา 94 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ธ.711/2546 ขอไม่เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 คดีจึงไม่มีเหตุตามมาตรา 93 ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ จึงไม่รับคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคัดค้านขอให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลแพ่งถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 93 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด” และมาตรา 25 บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้” ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 เจ้าหนี้ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 กับพวกรวม 6 คนต่อศาลแพ่ง ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณา เจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่าเพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว ขอให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความแทน และศาลได้มีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 6 มีนาคม 2549 ครั้นถึงวันนัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ในคดีล้มละลายครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 แม้ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคดีอยู่ระหว่างพิจารณาก็จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และ 91 การพิจารณาคดีแพ่งต่อไปจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เจ้าหนี้ได้แถลงคัดค้านต่อศาลว่า เจ้าหนี้เพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 มาศาลในคดีแพ่งแต่ไม่ได้แถลงให้เจ้าหนี้และศาลทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เจ้าหนี้มิได้ดำเนินการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว หากศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ศาลแพ่งจึงให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสีย อันมีผลเท่ากับศาลแพ่งได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 ต่อไป อันมีผลเท่ากับไม่อนุญาตตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้ามาว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงอีกครั้งหนึ่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เสนอที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีแพ่งต่อไปหรือไม่ อย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ติดใจเข้าว่าคดีแพ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 2 โดยขอให้ศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวนั้น จึงเป็นเพียงการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ติดใจที่จะนำพยานมาสืบหรือถามค้านพยานอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อทนายโจทก์แถลงว่าคดีไม่อาจตกลงกันได้เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ขอให้ศาลสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งหมดไปก่อน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็แถลงไม่ค้าน และยังแถลงอีกว่าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดี กรณีจึงเห็นได้ชัดว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีฐานะเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีแพ่งดังกล่าว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาสองเดือน นับแต่วันคดีถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 คดีนี้ปรากฏว่า ศาลแพ่งมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 7 ธันวาคม 2549 เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 เป็นการขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันคดีถึงที่สุด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
( วีระพล ตั้งสุวรรณ - รัตน กองแก้ว - สมศักดิ์ จันทรา )
ศาลล้มละลายกลาง - นายพิชัย เตโชพิทยากูล
__________________________________________
มาตรา 25 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 91 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้
มาตรา 93 ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด