ฟ้องซ้ำตาม ป. วิ. แพ่ง มาตรา 148

การฟ้องซ้ำ มีหลักว่า คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว คู่ความจะนำคดีเรื่องที่เคยพิพาทกันมาในคดีก่อนมาฟ้องกันใหม่อีกไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ แล้วคำว่า "ถึงที่สุด คืออะไร? เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฟังที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นที่สุด เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์หรือฏีกา หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ ฟ้องซ้ำต้องเป็นคู่ความเดียวกันจึงจะต้องห้าม คำว่า "คู่ความเดียวกัน" แม้คดีก่อนเป็นโจทก์ แต่คดีใหม่กลับมาเป็นจำเลยก็ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ขยายความ "คู่ความเดียวกัน" ให้รวมถึงผู้สืบสิทธิจากคู่ความเดิม เช่นสามีภริยา เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ผู้รับโอนทรัพย์ แม้เป็นคู่ความเดิมแต่เข้ามาคนละฐานะ ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "คู่ความเดิม" เช่น คดีก่อนฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว คดีใหม่ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เช่นนี้ไม่ถือเป็น "คู่ความเดียวกัน" ต่อไปคือได้นำคดีมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกัน ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน แล้วเหตุอย่างเดียวกันเป็นอย่างไร??? "เหตุอย่างเดียวกัน" หมายถึง คำพิพากษา หรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องร้องกันโดยวินิจฉัยอย่างเดียวกับคดีก่อนที่ศาลได้วินิจฉัยมาและต้องเป็นส่วนของเนื้อหาด้วย ถ้าหากไม่ใช่ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2553

แม้จำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 291/2529 ของศาลชั้นต้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และประเด็นพิพาทเป็นประเด็นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิในที่ดินพิพาทมาจาก ส. โจทก์ในคดีก่อน แต่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของคนก่อนซึ่งได้ขายที่พิพาทให้แก่ ส. กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทต่อจาก ส. โจทก์ในคดีก่อน โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเดียวกันกับคดีก่อน มีสิทธิฟ้องเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองได้
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 323 ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทส่วนที่เป็นสีแดงตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดีที่นายสงวนเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นจำเลย คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ ประกอบกับการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทของจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธินำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยคนเดียวกันกับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 291/2529 ของศาลชั้นต้น ที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และประเด็นพิพาทเป็นประเด็นเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิในที่พิพาทมาจากนายสงวนโจทก์ในคดีก่อน แต่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของคนก่อนซึ่งได้ขายที่พิพาทให้แก่นายสงวน กรณีจึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ในคดีนี้เป็นผู้สืบสิทธิในที่พิพาทต่อจากนายสงวนโจทก์ในคดีก่อน โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเดียวกันกับคดีก่อน มีสิทธิฟ้องเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น...

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ - อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย )
ศาลจังหวัดมหาสารคาม - นายสังคม เมฆอรุณลักษณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายณรงค์ ธนะปกรณ์
__________________________________________
มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือ คำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี

ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่ บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 142(1) มาตรา 245 และ มาตรา 274 และในข้อต่อไปนี้
(1) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้ บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิง หรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(2) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า

มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัย เหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ