ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ซึ่งประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นและพิจารณาความเห็นอื่นตามที่มอบหมาย ประธานกรรมการบริหาร เป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่ผู้รับประเมิน ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลให้ต้องถือตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3899/2552


โจทก์ผู้รับประเมินนำค่ารายปีของทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระมายังโจทก์ตาม มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546

ในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ซึ่งเท่ากับค่าภาษีของห้องพักและบ้านพัก ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี 2545 ถือว่าจำเลยที่ 1 นำค่าภาษีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียภาษีในปีต่อมาตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475

มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณี เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้ผู้รับประเมินผู้เช่าหรือผู้ครองทราบก่อน

จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ซึ่งจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นและพิจารณาความเห็นอื่นตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 ประธานกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 25 ถึง 30 แสดงว่า การเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลให้ต้องถือตามและกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบ หรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะมิได้เข้าร่วมประชุม แต่รับว่าได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุมโดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมเสียไป จำเลยที่ 2 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาว่าหนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่นั้นต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยโดยเฉพาะกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง และมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้

อนี่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินแลคะคำชี้ขาดที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 988,017.45 บาท อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินไป โดยโจทก์เห็นว่าควรมีค่าภาษีเพียง 385,146 บาท และขอให้คืนส่วนที่เกินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์จำนวน 602,871.45 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 15,072.50 บาท แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์มาศาลละ 24,700 บาท เกินมาทั้งสองชั้นศาล รวมเป็นเงิน 19,255 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์


โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ตามรายงานการประชุมวันที่ 11 เมษายน 2546 กับให้คืนภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นเรื่องการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 (ที่ถูก 2546) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อได้ความว่าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ตามแบบแจ้งรายการ ซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ จำเลยที่ 1 มีใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 ให้โจทก์ชำระค่าภาษี 919,086 บาท ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ดังนั้นที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว มิใช่เป็นการแจ้งรายการประเมินภาษีปี 2545 ดังที่โจทก์เข้าใจ การที่จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธถึงภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 มิได้นอกเหนือคำฟ้องของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและวินิจฉัยประเด็นผิดพลาดนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ถูกต้องแล้ว มิได้วินิจฉัยประเด็นผิดพลาดแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า“ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา” สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ แสดงว่า ค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไข กำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2546 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 23 ถึง 25 และใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 47, 48 ซึ่งเท่ากับค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2545 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 19 ถึง 21 อันเป็นปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาแล้ว

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 24 (ที่ถูก มาตรา 23) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นั้น เห็นว่า เพื่อประโยชน์ในการประเมิน มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองหรือผู้แทน...และเมื่อผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองได้รับคำขอร้องแล้ว ก็จะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรานั้น ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครอง จะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้น จึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผลการสอบข้อเท็จจริงที่โจทก์ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกสรุปว่า กระบวนการประเมินค่ารายปีโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และการชี้ขาดคำร้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่น่าจะถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลนั้น ในชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น...ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 เมษายน 2546 คำชี้ขาดจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งที่ 6/2546 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเมินค่ารายปีและคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และพิจารณาความเห็นอื่น ๆ ตามที่ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมอบหมายอันเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 ถึงมาตรา 30 แสดงว่าการเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งให้ต้องถือตาม และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบหรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะเบิกความว่ามิได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า ได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 57 โดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวเสียไป อีกทั้งจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 43 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ที่โจทก์ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรว่า หนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ใช้บังคับแก่โจทก์มิได้ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้นั้น เห็นว่า กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วย โดยเฉพาะคดีนี้เมื่อพิจารณาถึงกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก เห็นได้ว่า การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาในข้อเท็จจริง และกรณีนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้

อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 988,017.45 บาท อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงเกินไป โดยโจทก์เห็นว่าควรมีค่าภาษีเพียง 385,146 บาท และขอให้คืนเงินส่วนที่เกินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์จำนวน 602,871.45 บาท คิดเป็นค่าขึ้นศาล 15,072.50 บาท แต่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในขึ้นศาลภาษีอากรกลางและชั้นอุทธรณ์มาศาลละ 24,700 บาท เกินมาทั้งสองชั้นศาล รวมเป็นเงิน 19,255 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์


( ชาลี ทัพภวิมล - องอาจ โรจนสุพจน์ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )


ศาลภาษีอากรกลาง - กีรติ ตั้งธรรม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8, 18, 19, 23, 25, 26, 27, 28, 29, 30
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ป.วิ.พ. มาตรา 225
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ