อายุความสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

อายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2549

บันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายโดยมีการลดค่าเสียหายและกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่คู่สัญญา ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนออกประมูลขายได้เงินน้อยกว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าว จำนวน 284,007 บาท โดยมีการลดค่าเสียหายเหลือเพียง 170,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว

ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่าหากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญานั้น ข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน 284,007 บาท ในส่วนที่เกิน 170,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้

แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดในหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามสัญญาและตามกฎหมายสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วยจึงไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

หนี้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 อันเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วย โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุดนำออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 284,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยตกลงชำระค่าเสียหายเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 284,007 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 284,007 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ร ? 4673 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 242,388 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน งวดละ 6,733 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 ตุลาคม 2536 งวดต่อไปทุกวันที่ 23 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสาม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดประจำวันที่ 23 มีนาคม 2537 ถึงงวดประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2537 รวม 4 งวด เป็นเงิน 26,932 บาท วันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ยึดรถยนต์คืน โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท วันที่ 20 พฤษภาคม 2539 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแก่โจทก์รวม 284,007 บาท วันที่ 17 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำการบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า บันทึกข้อตกลงมีข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 284,007 บาท โดยให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2539 และผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท หากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ตกลงไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน 284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 284,007 บาท เหลือเพียง 170,000 บาท กำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จ รวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งลงลายมือชื่อไว้ให้ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่ข้อตกลงที่ว่าหากชำระไม่ผิดนัดในยอดเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากผิดสัญญาตกลงยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน 284,007 บาท และยินยอมเสียดอกเบี้ยในยอดเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญานั้น ข้อตกลงให้ชำระค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน 284,007 บาท ในส่วนที่เกิน 170,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญามีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้ เมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคาเพียง 242,388 บาท ได้ชำระราคาและค่าเสียหายบางส่วนให้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 60,597 บาท โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงิน 65,420.56 บาท โจทก์จึงได้รับเงินไปแล้วรวมเป็นเงินประมาณ 126,017.56 บาท เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ 10,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงิน 180,000 บาท และให้ลดดอกเบี้ยในกรณีผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงจากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย แต่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดในหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามสัญญาและตามกฎหมาย สมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย จึงไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และเมื่อหนี้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 อันเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วย โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 10 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กันยายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 180,000 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( สิทธิชัย รุ่งตระกูล - สุรพล เจียมจูไร - สถิตย์ ทาวุฒิ )

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/32 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล ที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ