ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน, สินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน
จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียว แต่เป็นคนละประเภทสินค้ากัน กล่าวคือ สินค้าประเภทที่เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกันผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7831/2549
โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ค. แต่สินค้าของโจทก์เป็นคนละประเภทกับสินค้าของบริษัทดังกล่าว กล่าวคือ สินค้าของโจทก์เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน แต่สินค้าของบริษัท ค. เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกันผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ายาของโจทก์เป็นยาของบริษัท ค. หรือมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทดังกล่าว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายอังกฤษใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Glaxo Group Limited มีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดกฎระเบียบในการยื่นและการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการกำกับดูแลการคัดค้านและอุทธรณ์คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอีกด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของนายทะเบียนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 12 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน โจทก์ได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" อ่านว่า ซีสตาร์ หรือ ไซสตาร์ ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์และไม่มีความหมาย โดยโจทก์ประสงค์ที่จะใช้กับสินค้ายาของโจทก์จำพวกที่ 5 ซึ่งได้แก่ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมเพื่อป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" อ่านว่า ซีสตาร์ หรือ ไซสตาร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ตามคำขอเลขที่ 452594 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าคำขอของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือเครื่องหมายการค้า คำว่า "ZYZAR" อ่านว่า "ไซตาร์" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค. 668 โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพื่อให้พิจารณารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ต่อมาหลังจากที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาแล้ว ได้มีคำวินิจฉัยยกคำอุทธรณ์ของโจทก์และไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายลงท้ายด้วยอักษรตัว TAR เช่นเดียวกัน มีเสียงเรียกขานได้ใกล้เคียงกันว่า ไซสตาร์ และ ไซตาร์ จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ทั้งนี้เพราะรูปลักษณะและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายแตกต่างกัน กล่าวคือ เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่รวมทั้งสิ้น 6 ตัว ได้แก่ อักษรตัว Z, Y, S, T, A และ R สามารถออกเสียงได้ว่า "ซีสตาร์" หรือ "ไซสตาร์" มีเสียงเรียกขานเป็นสามพยางค์เรียกขานได้สองแบบคือ "ซี-สะ-ตาร์" หรือ "ไซ-สะ-ตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนนั้นประกอบด้วยอักษรโรมันพิมพ์ใหญ่ซึ่งมีจำนวนเพียง 5 ตัว ได้แก่อักษรตัว Z, Y, T, A และ R สามารถออกเสียงได้ว่า "ไซตาร์" มีเสียงขานดังกล่าวเป็นคำสองพยางค์เรียกขานว่า "ไซ ตาร์" ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โดยโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" เพื่อเป็นที่หมายสำหรับ "ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนนั้น ผู้ได้รับการจดทะเบียนได้ใช้เพื่อเป็นที่หมายสำหรับ "ยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาโรคสัตว์" ซึ่งถึงแม้รายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวจะเป็นรายการสินค้าในจำพวกสากลเดียวกัน แต่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียน เป็นสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคที่ต่างประเภทและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาแตกต่างไปจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียน เนื่องจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ส่วนสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนมีที่มาจากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนจะเห็นว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ถูกจัดวางให้ปะปนกันและโดยทั่วไปแล้วสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคของมนุษย์และโรคของสัตว์ ดังเช่นสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายข้างต้นย่อมมีสถานที่ในการจำหน่ายที่แตกต่างกันประกอบกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทาเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อต้องพิจารณาถึงสรรพคุณของสินค้าอย่างรอบคอบก่อนใช้ อีกทั้งสินค้ายาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทางและเภสัชกรอย่างใกล้ชิด ซึ่งสินค้าดังกล่าวนี้สาธารณชนมิได้มีโอกาสในการเลือกซื้อเองแต่แพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้สั่งยาให้ตามอาการของโรคที่ตรวจพบและออกใบสั่งยาเพื่อให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายให้ และในการที่เภสัชกรจัดจ่ายยาถือได้ว่าเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของตัวสินค้าก่อนที่สาธารณชนผู้ซื้อจะได้รับสินค้าประเภทนั้นๆ เหตุนี้การที่แพทย์ผู้ที่ทำการสั่งจ่ายจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนจนเป็นเหตุให้เกิดการสั่งจ่ายยาผิดประเภทย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ และไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นอกจากนี้โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" สำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ยาป้องกันโรคผมร่วงในต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ กว่า 60 ประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2543 และในหลายประเทศดังกล่าวเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า ZYSTAR มาก่อนเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYTAR ของผู้ได้รับการจดทะเบียน นับว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYSTAR ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ZYTAR ของผู้ได้รับการจดทะเบียนอาศัยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ได้กล่าวไว้ทั้งหมดข้างต้น เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะครบถ้วนอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ขอให้ศาลพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์ ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค.668 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และขอให้ศาลพิพากษายกคำสั่งปฏิเสธของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 โดยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์
จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 บริษัทโซลเวย์ จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศเบลเยี่ยม ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYTAR" ในสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า "ยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาโรคสัตว์" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ดังกล่าว ไม่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าผู้อื่นในจำพวกเดียวกันจึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ไว้ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 226577 เลขทะเบียนที่ ค.668 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2541 บริษัทโซลเวย์ จำกัด ได้ขอจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ให้แก่บริษัทดิมมินาโค เอจี ซึ่งมีภูมิลำเนาและจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทแกล็กโซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด โจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนการค้า "ZYSTAR" ในสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า "ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน" ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ เลขที่ 452594 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "ZYSTAR" ที่ยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว และอาจทำให้หลงผิดได้ ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์ โดยพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า "ZYSTAR" กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่รับจดทะเบียนไว้แล้ว คำว่า "ZYTAR" ทะเบียนเลขที่ ค.668 (คำขอจดทะเบียนเลขที่ 226577) แล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า "ZYSTAR" เป็นคำสามพยางค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ZY" และลงท้ายด้วยคำว่า "TAR" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว คำว่า "ZYTAR" แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร "S" เพิ่มขึ้นมาในตำแหน่งที่ 3 อีก 1 ตัวเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า "ไซสตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วเรียกขานได้ว่า "ไซตาร์" นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ส่วนหลักฐานแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศที่โจทก์นำส่งนั้น มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาเป็นเวลานาน หรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทย คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเนื่องจากเครื่องหมายการค้า "ZYSTAR" ของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือเครื่องหมายการค้า "ZYTAR" ทั้งรูปลักษณะตัวอักษร เสียงเรียกขานตลอดจนการยื่นขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกเดียวกัน (จำพวก 5) จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามิอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ ตามมาตรา 6, 13 และ 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/2001 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ตามคำขอเลขที่ 452594 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 903/2545 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์ต่อไป โดยให้จำกัดรายการสินค้าในจำพวก 5 เฉพาะยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมใช้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือหัวล้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายอังกฤษใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Glaxo Group Limited มีวัตถุประสงค์ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ/หรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎและระเบียบเกี่ยวกับการยื่นและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการคัดค้านและอุทธรณ์คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และควบคุมของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการพิจารณารับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า ยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรม ได้แก่ยาใช้บำบัดรักษาโรคผมร่วงหรือหัวล้าน ตามคำขอเลขที่ 452594 ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.6 และคำขอแก้ไขรายการสินค้าตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือเครื่องหมายการค้าคำว่า "ZYTAR" ตามคำขอเลขที่ 226577 ทะเบียนเลขที่ ค.668 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ.9 เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะคำและเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าครอบคลุมถึงกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์โดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "ZYSTAR" กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วคือ คำว่า "ZYTAR" ตามทะเบียนเลขที่ ค.668 ตามคำขอเลขที่ 226577 เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำสามพยางค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ZY" และลงท้ายด้วยคำว่า "TAR" เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคำว่า "ZYTAR" แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร "S" เพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่ 3 อีกหนึ่งตัวเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานไว้ว่า "ไซสตาร์" ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วเรียกขานได้ว่า "ไซตาร์" นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และสำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่งซึ่งแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.19 นั้น คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายแล้วในประเทศไทย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 24/2545 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและให้ยกอุทธรณ์โจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยทั้งสิบสองมีว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "ZYSTAR" ตามคำขอเลขที่ 452594 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันตามคำขอเลขที่ 226577 ของบริษัทคิมมินาโค เอจี ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามทะเบียนเลขที่ ค.668 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความหมายคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องตัวอักษรและสำเนียงเรียกขานปัญหาคงมีว่าความคล้ายกันนั้นอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกที่ 5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทคิมมินาโค เอจี แต่สินค้าของโจทก์เป็นยาและสารที่เตรียมขึ้นทางเภสัชกรรมไว้รักษาและป้องกันโรคผมร่วงหรือโรคหัวล้าน แต่สินค้าของบริษัทคิมมินาโค เอจี เป็นยาทำลายหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้ในการรักษาสัตว์ แม้จะเป็นยาเหมือนกันแต่ก็ใช้รักษาโรคในคนและสัตว์แตกต่างกัน ผู้ใช้จึงเป็นคนละกลุ่มกัน ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนางสาวเยาวเรศ ปิ่นแหลม พยานโจทก์ว่าโดยทั่วไปยารักษาโรคในคนจะมีจำหน่ายตามโรงพยาบาล คลินิกและร้านขายยา แต่ยารักษาโรคในสัตว์จะมีจำหน่ายในโรงพยาบาลรักษาสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ และร้านเคมีเกษตร ยาทั้งสองประเภทประชาชนจะใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการเลือกซื้อ ยารักษาโรคในคนจะเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก ในขณะที่ยารักษาโรคในสัตว์จะเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยาที่ใช้เฉพาะทางบุคคลทั่วไปไม่อาจซื้อหามาใช้เองได้ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งและเภสัชกรเป็นผู้จ่าย พยานปากนี้สำเร็จปริญญาตรีทางด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและทำงานด้านยาตลอดมา ทั้งเป็นพยานผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าคำเบิกความของนายพันธุ์สวัสดิ์ พรหมรส นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายกนก ฌายีเนตร นิติกรและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและนายรุจิระ บุนนาค กรรมการเครื่องหมายการค้าและจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นพยานจำเลยทั้งสิบสองที่เบิกความลอยๆ ว่า ยาทั้งสองประเภทมีจำหน่ายในร้านเดียวกัน ประชาชนสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป คำเบิกความของนางสาวเยาวเรศจึงรับฟังได้เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าสินค้าของโจทก์เป็นคนละประเภทกับสินค้าของบริษัทอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมาข้างต้น จึงเห็นว่าแม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะคล้ายกัน แต่ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่ายาของโจทก์เป็นยาของบริษัทคิมมินาโค เอจี หรือมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทดังกล่าว ความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ฉะนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยทั้งสิบสองมีว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จะมิได้แถลงแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ว่ามีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสิบสองอ้างก็ตาม เพียงข้อเท็จจริงดังกล่าวจะถือว่าโจทก์ไม่สุจริตไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องกระทำเช่นนั้นก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
มาตรา 6 เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ
(3)ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว
มาตรา 13 ภายใต้บังคับ มาตรา 27 ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นนายทะเบียนเห็นว่า
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือ
(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน