การจัดการมรดกจะถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาว่า ผู้จัดการมรดกได้โอนมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทไปเมื่อใด และกฎหมายกำหนดว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" ในคดีนี้เจ้ามรดกมีที่ดิน 1 แปลงและเงินฝากในธนาคารจำนวนหนึ่งซึ่งผู้จัดการมรดกในได้โอนที่ดินให้ตนเองในฐานะทายาทโดยธรรมและเบิกถอนเงินที่อยู่ในบัญชีของเจ้ามรดกทั้งหมดในปี 2528 โจทก์มาฟ้องผู้จัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จคดีจึงขาดอายุความ
________________________________
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2538 (ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่อ่านต่อคลิ๊กที่นี่)
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจะเป็นกรณีที่ศาลอาจถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีคำสั่งถอดถอน จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีอำนาจในการจัดการมรดกได้ เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินกับเงินฝากธนาคารและจำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินดังกล่าวและถอนเงินออกมาทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2528จึงถือได้ว่าการจัดการมรดกได้สิ้นสุดแล้วตั้งแต่ปี 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในปี 2535 เกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จคดีจึงขาดอายุความ
________________________________
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 100/2528มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกของนางสาวมณีให้แก่โจทก์และทายาทอื่น ๆแต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 33083 เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวและยักยอกเอาเงินของนางสาวมณีจำนวน 70,000 บาท ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทุจริตเป็นการยักยอกและเบียดบังทรัพย์มรดกเอาเป็นของตนเองมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉลต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สมควรในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งกำจัดจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ให้ได้รับมรดกของนางสาวมณีและเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี โดยตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทนและยกเลิกการจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 33083 ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2528 และเพิกถอนการทำนิติกรรมยกให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 99 มีนาคม 2533 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 106,836.30 บาทแก่กองมรดกของนางสาวมณี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 70,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้แบ่งทรัพย์มรดกอย่างถูกต้องตามหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว และคดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ไม่ฟ้องร้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนางสาวเปรี่ยม นอนโพธิ์จำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์และกำจัดมิให้เป็นผู้รับมรดกของนางสาวมณีกับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 33083 ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม2528 และวันที่ 9 มีนาคม 2533 โดยให้ที่ดินกลับคืนสู่กองมรดกของนางสาวมณี
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณี นอนโพธิ์และกำจัดมิให้เป็นผู้รับมรดกของนางสาวมณี กับให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528และวันที่ 9 มีนาคม 2533 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 นางฉ่ำ พงษ์นาคินทร์นายดัด นอนโพธิ์ และนางสาวมณี นอนโพธิ์พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายแดง นางเอ้บ นอนโพธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นบุตรคนโตของนางฉ่ำ เมื่อปี พ.ศ. 2528 นางสาวมณีถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลงคือที่พิพาท และเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา 70,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางสาวมณี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวมณีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2528 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 100/2528 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่11 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวมณีได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะจำเลยที่ 2 เป็นหลาน ตามเอกสารหมาย จ.7 ส่วนเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา จำเลยที่ 1 ได้ถอนออกมาทั้งหมดคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าการที่จะถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วต้องปรากฏว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกให้แก่ทายาททุกคนแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดคงจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนแต่ผู้เดียว และจำเลยที่ 1 เพิ่งโอนที่ดินมรดกแก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2533 จึงถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528 นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์มีทรัพย์มรดกของนางสาวมณีอยู่เพียงที่พิพาทและเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา 70,000 บาท สำหรับที่พิพาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่11 มีนาคม 2528 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก แต่การโอนให้แก่จำเลยที่ 2 นั้นปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.7 ว่า จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะจำเลยที่ 2 เป็นหลาน ส่วนเงินฝากในธนาคารนั้นคู่ความนำสืบรับกันว่าภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยที่ 1 ได้ไปถอนเงินทั้งหมดจากธนาคาร แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่ส่งอ้างหลักฐานการเบิกเงินของจำเลยที่ 1 ก็พอคาดคะเนตามหลักเหตุผลได้ว่าการที่อ้างว่านำไปชำระค่ารักษาพยาบาลและค่าจัดงานศพของนางสาวมณีแสดงว่าจำเลยที่ 1ได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2528 อันเป็นปีที่นางสาวมณีรักษาตัวและถึงแก่ความตายแล้วจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่านางสาวมณีมีทรัพย์มรดกอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่พิพาทและเงินฝาก 70,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนที่พิพาทเป็นของตนและถอนเงินทั้งหมดออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แม้การกระทำดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลอาจถอดถอนจำเลยที่ 1 จากผู้จัดการมรดกเสียได้ ในเมื่อศาลยังมิได้ถอดถอนจำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีอำนาจในการจัดการมรดก การที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนที่ดินมรดกและถอนเงินออกมาทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ก็ถือได้ว่าการจัดการมรดกได้สิ้นสุดลงเมื่อปีพ.ศ. 2528 โจทก์มาฟ้องในคดีนี้ในวันที่ 4 มีนาคม 2535 เกินกว่า5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จ คดีโจทก์จึงขาดอายุความกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
( ปรีชา บูรณะไทย - บุญธรรม อยู่พุก - ณรงค์ ตันติเตมิท )
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2538 คดีฟ้องผู้จัดการมรดกต้องฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกสิ้นสุดลง การจัดการมรดกจะถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาว่า ผู้จัดการมรดกได้โอนมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทไปเมื่อใด