ฟ้องซ้ำ | คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก

คดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ในคดีก่อนโจทก์ถูกฟ้องให้รับผิดและโจทก์ต่อสู้เรื่องฐานะผู้รับโอน และศาลได้วินิจฉัยชีขาดแล้ว ในคดีนี้โจทก์จะมาฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ศาลวินิจฉัยประเด็นเดียวกันนี้ไปแล้วจึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206/2552

ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 เคยฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยให้รับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้ อ. ทำการซื้อขายแทน แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด และยอมรับว่าเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอยู่จริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมายและ ม. ไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 และเมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 22946 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองคัดสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ของศาลแพ่ง ที่โจทก์อ้างในฟ้องเสนอต่อศาลภายใน 15 วัน ต่อมาโจทก์ทั้งสองอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ประมูลซื้อสินทรัพย์มาโดยชอบ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวเป็นคดีนี้ ทั้ง ๆ ที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่งและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีหมายเลขดำที่ 11107/2543 ต่อศาลแพ่ง ให้โจทก์ทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ประมูลซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรับผิดต่อจำเลยที่ 2 และคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ของศาลแพ่ง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 4751/2545 จำเลยที่ 2 คดีนี้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นจำเลยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะโจทก์คดีดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการจัดตั้งเป็นกองทุนรวม ได้มอบให้นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ซื้อมารวมถึงมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง ที่จำเลยที่ 2 นำมาฟ้องโจทก์ทั้งสองให้ต้องรับผิด และต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมจึงได้ให้สัตยาบันการกระทำของนายเอลดริจ เอฟ เกรย์ จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเพราะมิได้มอบให้นายเอลดริจ เอฟ เกรย์ ทำการซื้อขายแทน แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต่อมาโจทก์ทั้งสองได้แถลงขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การทั้งหมด และยอมรับว่าเป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวอยู่จริง ดังนี้ ข้อต่อสู้ดังกล่าวรวมถึงข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ที่ว่าการซื้อขายทรัพย์สินด้อยคุณภาพระหว่างจำเลยทั้งสองขัดต่อกฎหมาย และนายมนตรีไม่มีอำนาจลงนามในสัญญาซื้อขายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในคดีก่อนที่จะนำมาอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อโจทก์ทั้งสองต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

( สนอง เล่าศรีวรกต - บุญรอด ตันประเสริฐ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายอรุณรัตน์ ศรีพิเชียร
ศาลอุทธรณ์ - นายอธิป จิตต์สำเริง
ป.วิ.พ. มาตรา 148, 249
มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย การวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายปรึกษาฟรี
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ